กล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ต้องรับมืออย่างถูกวิธี

กล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ
สัปดาห์นี้ ผมขอนำเสนอปัญหาการเจ็บปวดที่พบได้บ่อยๆในชีวิตประจำวันของทุกๆท่าน ผมเชื่อมั่นว่าไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เคยประสบปัญหาเรื่อง “กล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ” ตลอดชีวิตอย่างแน่นอน คงจะมีแต่อาการของกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ แล้วท่านอาจจะไม่ทราบว่าเป็นเรื่องเดียวกันนี้มากกว่า เพื่อให้ท่านทั้งหลายมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ผมใคร่ขอทบทวนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและการทำงานที่เกี่ยวเนื่อง ดังนี้

กล้ามเนื้อในร่างกายมีมากกว่า 600 มัด

ท่านอาจจะไม่เชื่อว่าในร่างกายของมนุษย์เรานั้น มีกล้ามเนื้อรวมกันแล้วมากกว่า 600 มัด อาจยกตัวอย่างว่ามีกล้ามเนื้ออยู่ที่ไหนบ้างในร่างกาย ให้ท่านผู้อ่านได้พอทราบเป็นสังเขปดังนี้ :

ที่ใดในร่างกายที่มีการเคลื่อนไหวได้แสดงว่าที่นั้นๆจะมีกล้ามเนื้ออยู่ด้วย เช่น มือและข้อมือ มีการเคลื่อนไหว กำมือ เหยียดนิ้ว กระดกข้อมือขึ้นลง คว่ำมือ หงายมือ ย่อมต้องอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ โดยกล้ามเนื้อจะเกาะในแต่ละตำแหน่งของกระดูกแตกต่างกันไป จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ในหลายๆทิศทางแตกต่างกันออกไป สำหรับในส่วนที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจากภายนอก เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ มดลูก ล้วนแล้วแต่มีกล้ามเนื้อ เพื่อว่าเวลากล้ามเนื้อหดตัว การทำหน้าที่ของแต่ละอวัยวะก็จะเกิดขึ้น

องค์ประกอบและชนิดของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อแต่ละมัด จะประกอบด้วยใยกล้ามเนื้อเป็นเหมือนเส้นๆมารวมกันเป็นมัดกล้ามเนื้อ โดยจะประกอบไปด้วยใยกล้ามเนื้อเหล่านี้เป็นพัน / หมื่นเส้น กล้ามเนื้อเหล่านี้เวลาทำงานจะเกิดการหดตัวและหย่อนสลับกันไป เพื่อเกิดแรงดึงในตัวกล้ามเนื้อนั้นๆเกิดขึ้น

กล้ามเนื้อเวลาจะไปเกาะที่ตัวกระดูกต่างๆ กล้ามเนื้อบางมัดจะเกาะด้วยตัวกล้ามเนื้อเอง บางมัดส่วนปลายของกล้ามเนื้อจะกลายเป็นเอ็น (Tendon) ก่อนที่เอ็นนั้นๆ จะไปเกาะตัวกระดูกอีกที่หนึ่ง ดังนั้นเมื่อเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อ จะเกิดแรงดึงในกล้ามเนื้อหรือเอ็นที่ยึดกระดูก ก็จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ

มีความสับสนในการใช้ศัพท์ภาษาไทย คำว่า “เอ็น” ซึ่งอาจเป็นเอ็น (Tendon) ที่ต่อเนื่องมาจากกล้ามเนื้อก่อนที่จะไปเกาะที่กระดูกตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นหรืออาจเป็น “เอ็น” ที่เขียนในภาษาอังกฤษว่า Ligament ซึ่งหมายถึง ส่วนที่ยึดระหว่างกระดูก 2 ชิ้นตรงบริเวณที่ประกอบเป็นข้อต่อ (Joint) เพื่อให้เกิดความแข็งแรงของข้อต่อนั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ เอ็นยึดข้อเท้าครูซิเอทลิกาเมนท์ (Cruciate Ligament) หรือที่ปัจจุบันมักนิยมเรียกเป็นภาษาไทยว่า “เอ็นไขว้” เพราะที่เข่ามีเอ็นไขว้ 2 เส้น ด้านหน้า (Anterior) และด้านหลัง (Posterior) อีกตัวอย่างหนึ่งคือเอ็นยึดข้อเท้า เวลามีการบาดเจ็บรอบๆข้อเท้า ก็จะมีการอักเสบของเอ็นรอบข้อเท้าได้ แต่บางครั้งอาจบาดเจ็บมากจนถึงขั้นฉีกขาดรุนแรง ที่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเย็บซ่อมก็มี

ชนิดของกล้ามเนื้อ ขอแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย

– กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle)

จะเป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานโดยการควบคุมแบบอัตโนมัติของร่างกายเอง ไม่สามารถสั่งการให้ทำงาน โดยตัวเจ้าของเองได้ เช่น กล้ามเนื้อกระเพาะ ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ มดลูก บางท่านอาจจะแยกกล้ามเนื้อหัวใจออกไปอีกกลุ่มหนึ่ง แต่การทำงานจะเหมือนกล้ามเนื้อเรียบ เพราะตัวเจ้าของจะไม่สามารถสั่งให้กล้ามเนื้อเหล่านี้ทำงานให้มากขึ้นหรือน้อยลงไม่ได้

– กล้ามเนื้อลาย (Striated Muscles)

จะเป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานโดยร่างกายของเราสามารถสั่งการได้ เช่น กล้ามเนื้อของมือ แขน ขา ลำตัว คอ เราสั่งให้หดตัวได้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ โดยมีแรงดึงเกิดภายในตัวกล้ามเนื้อที่หดตัวเอง หรือบางครั้งผ่านไปทางเอ็น (Tendon) ที่ไปยึดติดตัวกระดูกต่างๆ

เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นได้อย่างไร?

เกิดการบาดเจ็บจากแรงภายนอก ตัวอย่างเช่น นักฟุตบอลเตะลูกบอลแล้วมีคู่ต่อสู้ยกเท้ามายันที่ต้นขาอย่างแรงหรืออุบัติเหตุจากรถยนต์ / มอเตอร์ไซด์ชนเข้าที่บริเวณต้นขา ซึ่งมีกล้ามเนื้อต้นขาอยู่จะเกิดการฟกช้ำ กล้ามเนื้อ (เส้นใยกล้ามเนื้อย่อยๆ) มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากมาย เวลาถูกกระแทก ฟกช้ำจะทำให้หลอดเลือดฝอยต่างๆฉีกขาด มีเลือดออกมาในชั้นกล้ามเนื้อหรือหากกระแทกรุนแรงก็อาจมีการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อ มีเลือดออกมากขึ้น ก็จะเกิดอาการบวมมากขึ้น โดยจะเกิดมากสุดภายใน 48-72 ชั่วโมงแรก หลังมีเลือดออกมาร่างกายจะจัดระบบในการดูดซึมเลือดที่ออกมากลับคืนไป ดังนั้นเลือดออกมาก บวมมากก็จะใช้เวลามากขึ้น และในช่วงหลังการบาดเจ็บนี่เองที่ร่างกายพยายามช่วยตัวเอง โดยกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บจะพยายามอยู่นิ่งๆ มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ การขยับกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บเหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น สภาวะการณ์เช่นนี้บางทีเราบอกว่า กล้ามเนื้อมีการอักเสบเกิดขึ้น และในทำนองเดียวกันหากเกิดการบาดเจ็บบริเวณเอ็นที่ไปเกาะตามกระดูกต่างๆ เราอาจบอกว่าเอ็นมีการอักเสบได้เช่นเดียวกัน

เกิดการบาดเจ็บจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเอง ซึ่งอาจเกิดจากการหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด จนอาจทำให้เกิดมีหลอดเลือดฝอย บริเวณใยกล้ามเนื้อมีการฉีกขาด หรืออาจเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อมัดนั้นมากเกินไปในเวลาติดต่อกันที่เราอาจเรียกว่า Overuse (การใช้งานมากเกินไป) เช่น การเล่นเวท (Weight Training) แล้วพยายามทำให้ได้มากเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักที่มากเกินไปหรือการทำซ้ำติดต่อกันจำนวนครั้งที่มากเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดมีการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นที่ถูกใช้งานมากเกินไปได้ ทำให้เกิดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อหรือเอ็นเช่นเดียวกัน
เกิดการบาดเจ็บจากการยืดกล้ามเนื้อหรือเอ็นไปในทิศทางหรือระยะทางที่มากเกินไป ตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อหลัง เราอาจพบในผู้ป่วยบางรายที่นั่งขับรถอยู่แล้วบิดลำตัว เพื่อที่จะหยิบของที่เบาะด้านหลัง หรือ อาจนั่งอยู่บนเก้าอี้แล้วพยายามก้มหลังลงไปหยิบของที่หล่นอยู่ที่พื้นห่างเก้าอี้ไปมากพอสมควร หรือการใช้หัวไหล่ไปในทิศทางที่ไม่เคยไปได้ถึงขนาดนั้น อิริยาบถเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเอ็นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่การอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นเช่นกัน

การรักษา

เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นข้างต้น ผมขอให้หลักการดูแลรักษาเบื้องต้นเหมือนการบาดเจ็บทางการกีฬา คือ RICE R (Rest) หมายถึง เมื่อมีการบาดเจ็บก็หยุดกิจกรรมกีฬานั้นๆไปก่อน I (Ice) หมายถึง ใช้ความเย็นประคบตรงตำแหน่งที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบนั้น โดยใช้ความเย็นประคบได้ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังมีการบาดเจ็บ C (Compression) หมายถึง การใช้ผ้ายืดพันส่วนที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบให้กระชับ ไม่เคลื่อนไหวมากนัก ก็จะช่วยลดความเจ็บปวดจากการเคลื่อนไหวและช่วยไม่ให้มีเลือดออกมากขึ้นด้วย ส่วน E (Evaluation) หมายถึง การยกส่วนนั้นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บให้อยู่ในระดับสูงกว่าลำตัว (สูงกว่าหัวใจนั่นเอง) เช่น ต้นขาบาดเจ็บ มีการพันผ้าเอาไว้ ก็ให้จัดท่าโดยเอาหมอนมาหนุนตั้งแต่ปลายเท้า ขา เข่า และต้นขาให้สูงกว่าระดับลำตัว ก็จะมีส่วนช่วยในการไหลเวียนกลับของเลือดได้ดีขึ้น ขาและปลายเท้าก็จะไม่บวมมากนัก

สำหรับการใช้ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็น การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ การใช้ยาแก้ปวด ตลอดจนการใช้ครีมลดการอักเสบ ลดบวมและการใช้อุปกรณ์แผนกกายภาพบำบัด ก็ต้องได้รับพิจารณาใช้โดยแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

โอกาสเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นมีขึ้นได้กับท่านผู้อ่านทุกคน ข้อเขียนในวันนี้คงช่วยให้ท่านมีความเข้าใจได้ดีขึ้นและหากเกิดขึ้นกับท่านหรือคนในครอบครัวท่าน ท่านจะได้มีแนวทางในการดูแลรักษาเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สวัสดีครับ.