ปลาร้า ทานแล้วเสี่ยงโรคพยาธิตับ กับมะเร็งจริงหรือ
ปลาร้าเป็นอาหารคู่บ้านคู่เมืองคนไทยมาแต่ไหนแต่เรไม่ว่าจะทานดิบ หรือทานแบบต้ม หรือนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ส้มตำ แกงอ่อม แกงเห็ด น้ำยาหนมจีน แกงต่างๆ ล้วนก็ใช้ปลาร้าเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นหากเราไม่รู้วิธีทำให้สามารถทานได้อย่างปลอดภัยก็จะทำให้เราเสี่ยงอันตรายได้เช่นกัน กับโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี เราไปดูกันดีกว่าว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร
1. พยาธิใบไม้ตับ
พยาธิใบไม้ตับ เป็นพยาธิใบไม้ชนิดหนึ่งที่ตัวแก่อาศัยอยู่ในท่อน้ำดีของคน สุนัขและแมว ซึ่งเป็นพยาธิชนิดที่สามารถพบได้ในปลาดิบ เนื้อปลาร้าดิบ น้ำปลาร้าดิบ ที่เรียกว่าพยาธิใบไม้เพราะลักษณะของพยาธิจะมีรูปร่างแบนคล้ายใบไม้ ส่วนหัวและท้ายเรียวมน ขนาดยาว 5-10 มิลลิเมตร กว้าง 0.7-1.5 มิลลิเมตร สีแดงเรื่อคล้ายสีโลหิตจางๆ
การรับปลาทานปลาร้าอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดโรคโดยทันที แต่จะสะสมไปเรื่อยๆ จนแสดงอาการออกมาในที่สุด โดยจะเริ่มแสดงอาการ ให้ผู้ป่วยรู้สึกแน่นท้องที่ใต้ชายโครงขวา อาจจุกแน่นไปที่ใต้ลิ้นปี่ ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นมาก่อนหน้านี้ แต่เราไม่ทราบสาเหตุและคิดว่าเป็นเพียงอาการทั่วไปของสุขภาพสามารถหายได้เอง ได้แก่ เบื่ออาหาร ท้องอืด ตับโต ถ่ายเหลวเป็นบางครั้ง มีไข้ต่ำ ๆ มีอาการ “ออกร้อน” ในระยะท้ายของโรคผู้ป่วยอาจมี ท่อน้ำดีอุดตัน เกิดภาวะตัวเหลืองหรือดีซ่าน มีตับโตมาก คลำได้เป็นก้อนแข็ง ผิวขรุขระ ตับนุ่มอ่อน มีน้ำในช่องท้องและมีอาการบวมน้ำ ผู้ป่วยอ่อนเพลีย น้ำหนักลด และลุกลามไปยังอวัยวะระบบอื่น ๆ อาการจะทรุดหนักและเสียชีวิต
2. มะเร็งท่อน้ำดี
มะเร็งท่อน้ำดี อาจเรียกได้ว่าเป็นภาคต่อของโรคพยาธิใบไม้ตับ เพราะเมื่อมีอาการหนักขึ้นเพราะมีการสะสมมาระยะเวลานาน ระยะท้ายๆ อาจเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดีได้ เนื่องจากพยาธิใบไม้ตับเป็นพยาธิชนิดเดียวในประเทศไทยที่องค์การอนามัยโลกยอมรับ และจัดให้เป็นเชื้อก่อมะเร็ง นอกจากนี้ในปลาร้าดิบจะมีสารไนโตรซามีน ที่เป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายอีกด้วย