ชาร์โคล ในอาหารดีต่อสุขภาพจริงหรอ

สมัยก่อนที่ทุกอย่างจะต้องเป็น “ชาเขียว” ไม่ว่าจะเครื่องดื่ม อาหาร ขนมหวาน ไปจนถึงน้ำหอม หรือแม้กระทั่งกลิ่นของผ้าอนามัยยังชาเขียว เพราะเกิดจากความฮิตของชาเขียวที่ทำให้ผู้ผลิตดึงชาเขียวมาเป็นจุดเด่นของสินค้า สำหรับสมัยนี้เห็นทีจะเป็น “ชาร์โคล” หรือชื่อบ้านๆ อีกชื่อหนึ่งคือ “ถ่าน” หรือ “ผงถ่าน” ที่เป็นสีดำๆ ดูไม่น่าพิสมัย แต่กลับถูกนำไปเป็นส่วนผสมของอาหาร และผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่โฆษณาว่าดีต่อสุขภาพ ช่วยกำจัดกลิ่น หรือช่วยดูดซับสิ่งสกปรกออกไปอย่างหมดจด ไม่ว่าจะเป็นขนมปัง ไอศกรีม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่จริงๆ แล้ว ชาร์โคล มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายขนาดนั้นจริงหรือไม่?

ชาร์โคล คืออะไร?
ถ้าให้แปลตรงตัว ชาร์โคล ก็หมายถึง “ถ่าน” สีดำๆ ที่เราเห็นกันนั่นแหละ แต่ชาร์โคลที่เราพูดถึงกันในวงการอุตสาหกรรมอาหาร เราหมายถึง ผงถ่านที่ได้มาจากกากมะพร้าวเผา หรือผงถ่านไม้ไผ่ ที่มักจำไปผสมในอาหารเพื่อให้อาหารมีสีดำ หรือเทาเข้ม เช่น ขนมปัง ไอศกรีม

ในขณะที่บ้านเรา รวมไปถึงในหลายๆ ประเทศกำลังทานอาหารสีดำ และพากันถ่ายรูปอัปโหลดลง social media กันอย่างสนุกสนาน องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกากลับออกมาประกาศห้ามใช้ “ชาร์โคล” เป็นสารปรุงแต่งอาหาร เพราะถือว่าเป็นวัตถุเจือปนในอาหารที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ใส่ลงไปในอาหารเพื่อการจัดจำหน่าย

ประโยชน์ของ ชาร์โคล
สำหรับวงการแพทย์ ชาร์โคล หมายถึง แอคทิเวทเต็ด ชาร์โคล (Activated Charcoal หรือถ่านกัมมันต์) หรือถ่านที่นำไปผ่านกระบวนการความร้อนสูง เพื่อทำให้สะอาดปราศจากเชื้อโรค และนำไปบดเป็นผงเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องการพลังของถ่านเพื่อดูดซับเอาสิ่งต่างๆ ที่ต้องการออกมา

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ให้ข้อมูลไว้ว่า แอคทิเวทเต็ด ชาร์โคล ใช้เป็นหนึ่งในยาที่อยู่ในกลุ่มยาต้านพิษ มีลักษณะเป็นผงๆ หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “ผงถ่าน” จะใช้รักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากยา หรือสารพิษบางชนิดเกินขนาด โดยผงถ่านจะเข้าไปยับยั้ง หรือลดการดูดซึมยา หรือสารพิษที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไป โดยให้หลังจากผ่านการล้างท้อง หรือ การทำให้อาเจียนด้วย ipecac syrup และอาจให้ทานผงถ่านซ้ำๆ เพื่อเพิ่มการขับถ่ายยาหรือสารพิษออกจากร่างกาย ในกรณีที่เป็นพิษจากยาหรือสารพิษ นอกจากนี้ยังอาจนำ แอคทิเวทเต็ด ชาร์โคล ไปผสมในยาตัวอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอาการอื่นๆ เช่น ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในท้องมากจนทำให้ปวดท้อง เป็นต้น

ผลข้างเคียงที่อันตรายของชาร์โคล
การทานอาหารที่มีส่วนผสมของชาร์โคลที่ไม่ได้มีปริมาณมากเพียงพอที่จะออกฤทธิ์อะไรในร่างกาย (เพียง 250-500 มิลลิกรัม ในขณะที่ทางการแพทย์จะใช้มากถึง 50-100 กรัมในการรักษาผู้ป่วย) อาจไม่ได้ก่อให้เกิดการดูดซับสารพิษอะไรใดๆ ในร่างกาย และชาร์โคลก็ไม่ได้เข้าไปไหลเวียนอยู่ในโลหิต เป็นเพียงสารตกค้างที่เหลืออยู่ในกระเพาะอาหารเท่านั้น นอกจากนี้ชาร์โคลที่ทานเข้าไป อาจเข้าไปดูดซับยาที่กำลังทานอยู่ให้มีประสิทธิภาพด้อยลงได้

นอกจากนี้มูลนิธิสุขภาพช่องปาก (The Oral Health Foundation) ของอังกฤษ ก็ออกมายืนยันแล้วว่า ยาสีฟันชาร์โคลไม่ได้ช่วยให้ฟันขาวขึ้นแต่อย่างใด และในทางกลับกัน ยาสีฟันชาร์โคลอาจทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพฟันที่ตามมาด้วย เพราะมีส่วนผสมที่ไม่ได้ช่วยในการป้องกันฟันผุได้ดีเพียงพออีกด้วย

ดังนั้น อาจพูดได้ว่า ชาร์โคลที่อยู่ในอาหาร และผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพในการดูดซับสิ่งสกปรก หรือดีต่อสุขภาพอย่างที่โฆษณาไว้ เพราะนอกจากปริมาณของชาร์โคลที่ใส่ลงไปจะไม่มากพอที่จะให้เกิดการออกฤทธิ์ใดๆ แล้ว ยังอาจสิ้นเปลืองไปกับอาหารและสินค้าเหล่านี้ที่อาจมีราคาสูงกว่าปกติ แต่ทั้งนี้เมื่อปริมาณของชาร์โคลที่อยู่ในอาหาร และสินค้าเหล่านี้มีไม่มาก นั่นก็รวมถึงความปลอดภัยจากอาหาร และสินค้าเหล่านั้นที่ยังอาจไม่ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายมากนักเช่นกัน นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากงานวิจัยใหม่ๆ ที่กำลังตามมาในไม่ช้านี้